เงินเกษียณอายุมาจากแหล่งใดได้บ้าง ลู่ทางเพื่อการเกษียณสุข

เงินเกษียณอายุ
Categories:

การเก็บออมเงินเพื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉินเป็นพื้นฐานของการวางแผนการเงินทั้งหมด รวมถึงเงินเกษียณอายุก็จะเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักของการออมเงินเพื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉินด้วย ทั้งนี้ เงินที่เราจะได้รับเพื่อนำมาวางแผนใช้จ่ายหลังเกษียณอายุสามารถหาได้จากหลายช่องทาง ขึ้นอยู่กับปัจจัยในชีวิตของแต่ละบุคคล หากวางแผนการเงินตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้รู้ว่าตัวเองสามารถรับเงินจากช่องทางใดได้บ้าง และจะทำอย่างไรเพื่อต่อยอดให้ได้เงินเก็บสำหรับวัยเกษียณได้ตามเป้าหมาย

เงินเกษียณอายุจากการทำงาน สวัสดิการต่าง ๆ ที่ทุกคนต้องได้รับ

เมื่อเข้าสู่วัยทำงานมีหลายเรื่องที่ต้องจัดการเพื่อสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ เงินเกษียณอายุเองก็เป็นแผนที่ควรเตรียมการไว้ตั้งแต่เริ่มทำงานปีแรก เพื่อให้รู้ว่าจะได้รับเงินจากสวัสดิการใดบ้าง องค์กรที่ทำงานอยู่มีความมั่นคงด้านสวัสดิการมากน้อยแค่ไหน และจะบริหารจัดการรายรับที่ได้แต่ละเดือนอย่างไร ให้สวัสดิการที่มีอยู่สอดคล้องกับแผนเกษียณอายุ

1. ประกันสังคม

พนักงานประจำภาคเอกชนจะต้องมีสวัสดิการประกันสังคม นอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาลแล้ว เงินสมทบที่ส่งให้ประกันสังคมทุกเดือนจะถูกแบ่งไปเก็บไว้เป็นเงินเกษียณอายุด้วย ซึ่งเรียกว่าเงินชราภาพ โดยจะได้รับแบบบำเหน็จ หรือรับแบบบำนาญ จากเงื่อนไขที่เหมือนกันคือ 

– ต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
– ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
– เป็นผู้ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
ส่วนที่ต่างกันคือ
– จ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป จะได้รับแบบบำนาญ
– จ่ายเงินสมทบมาแล้วน้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับแบบบำเหน็จ 

เงินเกษียณอายุ

2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

บริษัทที่มีความมั่นคงสูงมักมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน ซึ่งสามารถเลือกสมทบได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน ทั้งกับฝั่งพนักงานและนายจ้าง ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท เป็นการช่วยพนักงานออมเงินเอาไว้ เมื่อเกษียณอายุจะได้รับผลตอบแทนถึง 3 ส่วน คือ เงินสะสมของพนักงาน เงินสมทบของนายจ้าง และดอกผลจากการลงทุน ซึ่งเงินสมทบที่ได้จากนายจ้างถือเป็นผลตอบแทนที่เรียกว่า “เกิดขึ้นทันที” เพราะมูลค่าของเงินเพิ่มขึ้นทันทีที่ส่งเงินสมทบ นอกจากนี้หากไม่ต้องการรับเงินก้อนหลังเกษียณอายุ ยังสามารถเลือกรับเงินเป็นงวด ๆ แบบบำเหน็จได้ เพื่อปล่อยให้เงินมีโอกาสสร้างผลตอบแทนต่อในกองทุน แต่จะมีค่าธรรมเนียมในการคงเงินไว้ในกองทุนปีละ 500 บาท

3. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เงินเกษียณอายุจากเบี้ยยังชีพซึ่งเป็นสวัสดิการจากรัฐบาล จะได้รับตั้งแต่อายุ 60 ปีไปจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งมีอัตราการจ่ายเงินตามช่วงอายุ คือ

– อายุ 60-69 ปี ได้รับเดือนละ 600 บาท
– อายุ 70-79 ปี ได้รับเดือนละ 700 บาท
– อายุ 80-89 ปี ได้รับเดือนละ 800 บาท
– อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเดือนละ 1,000 บาท
แต่จะเห็นว่า หากอาศัยเฉพาะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อาจไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ขึ้นอยู่กับบริบทของผู้สูงอายุแต่ละคนด้วยว่าจะใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน อย่างไร จึงต้องมีแผนสร้างรายได้ แผนการลงทุน และนำเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ จากองค์กรที่ทำงานอยู่มาใช้จ่ายร่วมด้วย

เงินเกษียณอายุจากแหล่งรายได้เพิ่มเติม ที่ทุกคนควรศึกษาการลงทุน

นอกจากการรับเงินเกษียณอายุจากสวัสดิการข้างต้นแล้ว แหล่งที่มาที่สำคัญที่สุดก็คือ การออมและการลงทุนด้วยตนเอง เนื่องจากการออมและการลงทุนจะช่วยให้วางแผนได้ชัดเจนว่า เงินที่ใช้หลังเกษียณนั้นควรมีอยู่เท่าไร ถึงแม้จะตรวจเช็กได้ว่าจำนวนเงินจากสวัสดิการต่าง ๆ มีเท่าไรบ้าง แต่ถ้าพิจารณาถึงแผนเกษียณที่เหมาะกับตนเองแล้ว อาจจำเป็นต้องสร้างแหล่งรายได้เพิ่มเติม และกำหนดจำนวนเงินออมให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ การออมและการลงทุนสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวม การลงทุนในกิจการส่วนตัว การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การทำประกันแบบบำนาญ เป็นต้น 

สิ่งที่จะช่วยให้การออมและการลงทุนสร้างเงินเกษียณอายุให้มีจำนวนตามเป้าหมายคือ การศึกษาหาความรู้ ทำความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองลงทุน ประเมินอัตราผลตอบแทนและระดับความเสี่ยงจากการลงทุน เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง จึงต้องศึกษาหาความรู้และวางแผนการลงทุนให้ดี ไม่ให้กระทบกับเงินออมเผื่อใช้ยามฉุกเฉิน หรือกระทบกับสวัสดิการเพื่อการเกษียณที่มีอยู่แล้ว เป็นการมองระยะยาวเพื่อให้วัยเกษียณใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นนั่นเอง

เมื่อมองเห็นช่องทางสร้างเงินเกษียณอายุแล้ว จะทำให้รู้ว่าตนเองเหมาะกับการสร้างรายได้ด้วยวิธีใด มีแนวทางที่จะใช้ในการวางแผนเกษียณได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตหลังเกษียณ จะอยู่เป็นโสดหรือมีครอบครัว ค่าใช้จ่ายสำหรับบุตรหลาน การวางแผนสุขภาพ หรือการวางแผนส่งต่อมรดกต่าง ๆ เพื่อให้การเกษียณมีแผนที่เป็นรูปเป็นร่าง เมื่อวันเกษียณมาถึงทุกอย่างจะได้เข้าที่เข้าทาง พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตต่อไป